เรื่อง...เจ้าหน้าที่ทางพุทธศาสนาทำให้เขากลืน

          เป็นภาพภิกษุในพระพุทธศาสนา กำลังถูกพวกพราหมณ์กลืน ภาพนี้เป็นภาพล้อ แสดงถึงอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ในพุทธศตวรรษที่ ๘ ราว พ.ศ. ๗๔๓ ขณะนั้นในอินเดียเกิดการแบ่งชั้นวรรณะกันอย่างขนาดหนัก พวกศูทรหรือพวกกรรมกร ถูกตัดออกจากวงของสังคมด้วยการถูกต้านปฏิเสธให้ออกไป ดังเห็นอยู่ในภาพ

          ภาพนี้ต้องการเตือนสติผู้ที่อ้างตนว่า นับถือพระพุทธศาสนาให้มั่นอยู่ในความไม่ประมาททุกเวลา เพราะปรากฏอยู่ไม่น้อย ที่เป็นชาวพุทธเพียงปาก แต่การประพฤติกลับไม่ใช่ชาวพุทธเลย. พระพุทธเจ้าสอนให้พึ่งตนเอง แต่พวกเขาเหล่านั้นกลับไปพึ่งพิธีรีตอง พึ่งผีสางนางไม้ หรือพระภูมิ พระพรหม ฯลฯ อันเป็นเรื่องนอกตัวเองออกไป เขาไม่เคยสนใจต่อการดับทุกข์ของตนด้วยตนเอง ตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา

          ผู้ที่อ้างตนว่าเป็นชาวพุทธ กำลังทำลายพระพุทธศาสนาอยู่อย่างขนาดหนัก ด้วยการเสกเป่าสร้างเครื่องรางของขลัง รดน้ำมนต์สะเดาะเคราะห์ ถึงกับกล้าเสกหิน เสกดิน และผงต่างๆ ให้เป็นพระพุทธเจ้า ช่วยให้คนงมงายมากขึ้นๆ วัดเลยกลายเป็นที่ทำมาหากินของคนบางพวก ซึ่งตรงข้ามกับ จุดประสงค์ของพระพุทธศาสนา ที่มีแต่ต้องการช่วยให้ทุกคนพ้นจากความเชื่อที่งมงาย มีหูตาสว่าง เห็นทุกสิ่งที่ถูกต้องตามที่เป็นจริง จนกระทั่งเห็นว่า ทุกสิ่งว่างจากตัวตน ของตน ตามหลักธรรมที่ว่าด้วยเรื่อง สุญญตา.

          เรื่องสุญญตานี้มีผู้ที่อยู่ในเครื่องแบบของพุทธบุตรกล้าอ้างว่า ไม่ใช่เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้านำมาสอนแก่ชาวบ้านชาวเมือง นี่ก็เพราะความเขลาของเขาเอง เพราะหากนำเอาหลักธรรมข้อนี้ออกเสียแล้ว พุทธศาสนาก็หมดความเป็นพระพุทธศาสนา หากใครผู้ใดไม่เข้าใจหลักธรรมข้อนี้ก็คือไม่เข้าใจพระพุทธศาสนาเลย. ยิ่งอ้างอย่างภาคภูมิด้วยกฎแห่งกรรมว่า ทำกรรมดีได้ดี ทำกรรมชั่วได้ชั่ว เป็นหลักพระพุทธศาสนา นั่นยิ่งเป็นการลดค่าทอนราคาพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง มองเห็นได้ยากทีเดียว เพราะกรรมที่กล่าวถึงนั้นเพียงระบุกรรมทางกาย ทางวาจา เท่านั้น ไม่มีการกล่าวถึงกรรมส่วนข้างใน คือ มโนกรรมเลย.

          หากกล่าวถึงมโนกรรม ก็จะต้องกล่าวถึงสุญญตาในที่สุด หนีไม่พ้น เพราะการศึกษาธรรมะ ก็คือการศึกษาชีวิตจิตใจของตนเอง การที่จะรู้จักชีวิตจิตใจของตนเองได้ ก็ต้องด้วยการเฝ้ามอง เฝ้าสังเกต ความรู้สึกต่างๆที่เกิดขึ้นกับจิต : เฝ้ามองไป สังเกตไป พินิจพิจารณาไป ในที่สุดจะพบว่าจิตตามสภาพธรรมดาของธรรมชาตินั้น มันว่างจากความโลภ ความโกรธ ความหลง. สำหรับกิเลส ๓ ตัวนี้ เป็นเพียงแขกที่มาชั่วครั้งคราว ภายหลังที่ตากระทบรูป หูได้ยินเสียงในฐานะเป็นเหยื่ออันยั่วยวนในโลก จนกระทั่งเวทนาปรุงเป็นตัณหา (ความอยากที่เป็นกิเลส)

          เพราะฉะนั้น ก่อนที่กิเลสจะเข้ามาครอบงำจิต จิตจึงว่างจากตัวตนของตน อยู่ในภาวะสุญญตาอยู่ตามธรรมชาติธรรมดาของมัน และภาวะของจิตอย่างนี้แหละจึงจะปราศจากทุกข์ ผิดจากนี้แล้วจะปราศจากทุกข์ไม่ได้เลย.

 

ชมภาพปริศนาธรรมก่อนภาพนี้ ปิดหน้าต่างนี้ ชมภาพปริศนาธรรมภาพถัดไป